ร.อ. นรินทร์ ขาวฉวีรัตนชาติ (STBE รุ่น 5)

งานวิจัยเรื่อง : การบริหารจัดการเศษวัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถ

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.ศุภวุฒิ มาลัยกฤษณะชลี

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาสาเหตุการเกิดเศษวัสดุก่อสร้าง ศึกษาปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเศษวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนวิเคราะห์และเสนอแนวทางในการจัดการตามหลักการ 7 Rs เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ เศษวัสดุก่อสร้างต่อไป โดยใช้กรณีศึกษาการก่อสร้างอาคารที่จอดรถสูง 9 ชั้น มาใช้เป็นกรณีศึกษา พบว่างานวิศวกรรมโครงสร้างเกิดเศษวัสดุมากที่สุด โดยที่วัสดุที่มูลค่าเกิดการสูญเสียมากที่สุดคือแผ่นไม้อัดสำหรับหล่อคอนกรีต และปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเศษวัสดุก่อสร้าง พบว่าปัจจัยเนื่องจากการออกแบบและการก่อสร้าง และปัจจัยจากผู้ปฏิบัติงานมีผลมากที่สุด เมื่อได้นำข้อมูลดังกล่าวมาทำการพิจารณาวิเคราะห์ประเมินตามหลักการ 7 Rs พบว่า Rethink เป็นหนทางที่มีสำคัญต่อการลดปริมาณเศษวัสดุก่อสร้างได้มากที่สุด

นายพลพันธ์ เศรษฐพิทยากุล (STBE รุ่น 4)

งานวิจัยเรื่อง : อิทธิพลของคุณสมบัติของวัสดุซ่อมแซมคอนกรีตต่อระยะเวลาเริ่มต้นการเกิดรอยร้าวอันเนื่องมาจากการกัดกร่อนของเหล็กเสริม

อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร.วันชัย ยอดสุดใจ

ปัญหาการกัดกร่อนของเหล็กเสริมในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทำให้เกิดการแตกร้าวของคอนกรีตหุ้ม และส่งผลโดยตรงต่ออายุการใช้งานของโครงสร้าง หากสามารถทำนายระยะเวลาการเกิดรอยร้าวอันเนื่องมาจากกัดกร่อนดังกล่าวได้ การวางแผนซ่อมแซม บำรุงรักษา และการจัดเตรียมงบประมาณก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้ได้ทดลองหาอิทธิพลของวัสดุซ่อมแซมคอนกรีต 3 ชนิด ได้แก่ คอนกรีต ปูนทรายสูตรพิเศษชนิดฉาบซ่อม (Repair mortar) และซีเมนต์เกร้าท์ชนิดไม่หดตัว (Non-shrink cement grout) ที่มีต่อระยะเวลาเริ่มต้นการเกิดรอยร้าวอันเนื่องมาจากการกัดกร่อนของเหล็กเสริม พบว่าตัวอย่างที่หล่อวัสดุซ่อมแซมเพียงอย่างเดียว ปูนทรายสูตรพิเศษชนิดฉาบซ่อม เกิดรอยร้าวเร็วที่สุด ตามมาด้วยคอนกรีตและซีเมนต์เกร้าท์ชนิดไม่หดตัวตามลำดับ

นาย กฤตพนธ์ ฮ้อแสงชัย (STBE รุ่น 5 )

งานวิจัยเรื่อง : การศึกษาพฤติกรรมและแบบจำลองการรับแรงอัดของคอนกรีตเสริมกำลังด้วยวัสดุคอมโพสิตเสริมเส้นใยจากธรรมชาติ

อาจารย์ที่ปรึกษา : อ.ดร. ธิดารัตน์ จิระวัฒนาสมกุล

ศึกษาคุณสมบัติ พฤติกรรมและความสามารถในการรับแรงอัดของคอนกรีตเมื่อมีการเสริมกำลังด้วย NFRP ศึกษาลักษณะการวิบัติเนื่องจากหน่วยแรงอัดประลัยตามแนวแกน ของคอนกรีตเมื่อมีการเสริมกำลังด้วย NFRP ทำการทดสอบ coupon test วัสดุคอมโพสิตเสริมเส้นใยธรรมชาติ ตามมาตรฐาน JSCE-E 541-2000 โดยใช้เครื่องดึง Instron ในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าความเค้นและความเครียด หาค่า Elastic modulus และค่า Ultimate strain ของวัสดุคอมโพสิตเสริมเส้นใยธรรมชาติ พบว่าวัสดุคอมโพสิตเสริมเส้นใยธรรมชาติ สามารถนำมาเสริมกำลังโดยวิธีการรัดรอบเพิ่มแรงอัดของคอนกรีตรูปทรงกระบอกได้ โดยในวัสดุคอมโพสิตเสริม Cotton สามารถเพิ่มได้สูงสุด ร้อยละ 28 วัสดุคอมโพสิตเสริม Hemp สามารถเพิ่มได้สูงสุด ร้อยละ 25 และวัสดุคอมโพสิตเสริม Jute สามารถเพิ่มได้สูงสุด ร้อยละ 42 ซึ่งสัมพันธ์ กับกำลังรับแรงดึงของวัสดุคอมโพสิตเสริมเส้นใยธรรมชาติที่ได้ทำการทดสอบ

นางสาวณิชชา วันทาแก้ว (STBE รุ่น 3)

งานวิจัยเรื่อง : การศึกษาประสิทธิภาพของลักษณะรอยต่อระหว่างผนังอิฐมวลเบากับเสาเหล็กเบา เพื่อป้องกันรอยร้าวที่เกิดจากแรงภายนอก

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร. ทรงพล จารุวิศิษฎ์

ประเทศไทยได้มีการนำเหล็กรีดเย็นซึ่งเป็นเหล็กกล้ากำลังสูงเคลือบสังกะสี (Light gauge Steel, เหล็กเบา) มาใช้ในงานก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก น้ำหนักที่เบา มีการป้องกันสนิม มีกำลังรับแรงที่จุดครากสูง การติดตั้งสะดวกรวดเร็ว ราคาถูก ทำให้สามารถลดน้ำหนักของโครงสร้างได้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในการก่อสร้างได้เริ่มนำเหล็กเบานี้มาใช้แทนโครงสร้างเสาเหล็กรูปพรรณและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่พบว่าเกิดรอยร้าวระหว่างรอยต่อผนังอิฐมวลเบาและเสาเหล็กเบา อันคาดว่าเป็นผลมาจากหน่วยแรงดึงที่เกิดขึ้นในระดับที่เกินกว่ากำลังของวัสดุ ซึ่งเกิดจากแรงภายนอกเช่น แรงลม การยืดหดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้น การสั่นสะเทือนจากการก่อสร้างและรถบรรทุกขนาดใหญ่ ฯลฯ งานวิจัยนี้ได้ทำการทดสอบชิ้นตัวอย่างผนังอิฐมวลเบาก่อยึดติดกับเสาเหล็กเบา เพื่อหาค่าหน่วยแรง Bending Stress เสมือนเป็นค่าหน่วยแรงดึงที่ผิวของผนังอิฐมวลเบา เพื่อนำไปใช้เปรียบเทียบกับผลของค่าหน่วยแรงจากการวิเคราะห์แบบจำลองโครงสร้างภายใต้แรงลม และการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังทำการวัดการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นที่หน่วยงานก่อสร้างจริง โดยการวัดค่าความเร็วที่ผนังอิฐมวลเบา เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานความสั่นสะเทือนเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออาคาร และความเร่งที่ฐานอาคารเพื่อประเมินการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น

นายปรเมนทร์ ขะพินิจ (STBE รุ่น 2)

งานวิจัยเรื่อง : กระบวนการริเริ่มโครงการภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน กรณีศึกษา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยกรมชลประทาน

อาจารย์ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยนุช เวทย์วิวรณ์

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการภาครัฐให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยใช้กรณีศึกษาของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน พิจารณาจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ โครงการเขื่อน แควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหา ในการกระบวนการริเริ่มโครงการ คือโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น พบว่า ในขั้นตอนกระบวนการริเริ่มมีข้อบกพร่องใน 2 ประเด็น คือ ด้านข้อควรพิจารณา มีข้อกำหนดที่ยังไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบันในด้านข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ข้อกำหนดทางด้านกระบวนการ และภาคประชาสังคม เป็นต้น ในส่วนประเด็นด้านความเหมาะสมของบุคลากรที่ทำการศึกษา พบว่า ยังขาดการบูรณาการความรู้ แนวทาง ข้อกำหนดจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาโครงการโดยตรง และการคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์

STBE Structural Technology
for the Built Environment

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีโครงสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง