ด้วยปัจจุบัน อุตสาหกรรมก่อสร้างมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (The Built Environment) ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สะพาน หรือสิ่งก่อสร้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาแบบ การวางแผน การก่อสร้าง การตรวจประเมิน ตลอดถึงการบำรุงรักษาโครงสร้าง ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงอย่างไร้พรมแดน วิศวกร/สถาปนิก จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งในด้านการบริหารจัดการงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และ ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ก่อให้เกิดการหมดเปลืองทรัพยากรธรรมชาติเป็น อย่างมหาศาลจนเกิดการกดดันต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นวิศวกร/สถาปนิกมีความจำเป็นต้องตระหนักถึงความเป็นจริงดังกล่าวอันเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง

ภายใต้หลักปรัชญาดังกล่าวข้างต้น ภาควิชาวิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้วยความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีโครงสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อ ผลิตวิศวกรครงสร้างของประเทศที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูง ทันต่อความก้าวหน้าและการแข่งขันของโลกในปัจจุบัน และสามารถบริหารจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจงานด้านสถาปัตยกรรม สามารถสรรค์สร้างผลงานที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม  หลักสูตรจึงมุ่งเน้นพัฒนาความรู้ความเข้าใจใน 5 ด้าน

เพราะว่า… โลกเปลี่ยนแปลง และงานเปลี่ยนไป 

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างมาก โดยอาจแยกกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสองกระแสหลักได้แก่

  1. กระแสแห่งโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี ทำให้อุตสาหกรรมบริการต่างๆรวมถึงอุตสาหกรรมการออกแบบก็ได้แรงกดดันจากภายนอก สำนักออกแบบของไทยหรือสำนักออกแบบต่างชาติที่มีสำนักงานอยู่ในไทย รับงานออกแบบอย่างกว้างขวางขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย งานออกแบบในประเทศไทยจำนวนหนึ่งออกแบบโดยสำนักออกแบบต่างชาติ มีทั้งความร่วมมือและการแข่งขันกันในการออกแบบระหว่างนักออกแบบไทยและต่างชาติในการผลิตผลงาน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น อุตสาหกรรมการออกแบบของประเทศมีความจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถให้สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการ
  2. กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงกระแสที่สองได้แก่กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ กระแสดังกล่าวได้ก่อตัวตั้งแต่ทศวรรษที่1960จากผลกระทบของการผลิตทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและกสิกรรม วิกฤตราคาน้ำมันในช่วงปีค.ศ.1973-74 ได้มีส่วนกระตุ้นให้กระแสอนุรักษ์พลังงานสมทบอีกกระแสหนึ่ง การค้นช่องว่างของชั้นโอโซนเหนือบริเวณขั้วโลกใต้ในปีค.ศ.1985และการค้นพบสภาวะเรือนกระจก (The Green House Effect) ในช่วงทศวรรษนี้ ต่างมีส่วนผลักดันให้เกิดการตื่นตัวเรื่องโลกร้อน (Global Warming) ดันกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ละประเทศได้มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบข้างต้น จะเห็นได้ว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ความจำเป็นในการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและการบริหารจัดการตลอดจนความจำเป็นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า

  1. เทคโนโลยีมีความซับซ้อนและภาคอุตสาหกรรมต้องการผู้มีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
  2. ขอบเขตความรับผิดชอบของวิศวกร/สถาปนิกในการพัฒนาโครงการมีความกว้างขวางขึ้นและอาจรวมถึงการบริหารจัดการในทุกๆขั้นตอนตั้งแต่ระยะเริ่มการโครง ได้แก่การประเมินความเป็นไปได้ทั้งด้านเทคนิคและด้านการเงิน การบริหารจัดการในการพัฒนาแบบ การบริหารองค์กรและโครงการ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ
  3. ประการที่สาม จากการศึกษาและวิจัยยังพบอีกว่า ผู้จบการศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาจำนวนมากยังอยู่ในลักษณะขาดความสามารถเชิงจินตนาภาพ และขาดการมองโครงสร้างอย่างเป็นระบบหลายคนทำหน้าที่“นักคำนวณโครงสร้าง”โดยละเลยบทบาทของ “วิศวกรวางระบบโครงสร้าง” หลายต่อหลายคนที่จบการศึกษาใหม่มิสามารถแม้กระทั่งจะอ่านแบบก่อสร้างได้ สิ่งต่างที่ได้กล่าวนี้แม้การดูงานและการฝึกงานจะมีส่วนช่วยอยู่บ้างแต่ไม่อยู่ในระดับที่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
  4. ประการที่สี่ จากศึกษายังพบอีกว่า วิศวกรโครงสร้างเป็นจำนวนมากมีปัญหาในการสื่อสารและการประสานงานที่ดีกับผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาปนิก สาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นการขาดความมั่นใจจากการ“ขาดความรอบรู้และความเปิดกว้าง”กับวิทยาการรอบตัวทั้งโดยทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นในงานวิศวกรรมงานระบบ หรือจะเป็นงานด้านอื่นๆเช่น ด้านกฎหมาย ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุนทรียภาพทางสถาปัตยกรรม การขาดความซาบซึ้งของคุณค่าของงานเหล่านี้นอกจากจะทำให้การออกแบบของวิศวกรเหล่านั้นเอง“ขาดการบูรณาการ”แล้ว ยังอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งในการทำงาน จนอาจเป็นผลเสียโดยรวมกับงานได้อีกด้วย
  5. ประการที่สำคัญท้ายสุดอย่างที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ภายใต้สภาวะกดดันทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างที่ประจักโดยทั่วไปในปัจจุบัน การเรียนการสอนทางวิศวกรรมโครงสร้างยังมิได้มีการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นทางตรงโดยการเรียนการสอนตามระบบหรือโดยทางอ้อมจากการปรับค่านิยมและทัศนคติผ่านสภาวะแวดล้อมที่ชักนำไม่ว่าจะเป็นสภาวะทางกายภาพอันได้แก่อาคารสถานที่ตลอดจนถึงห้องและอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือสภาวะแวดล้อมเชิงพฤติกรรมเช่นพฤติกรรมขององค์กรและบุคลากรในการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จากการบูรณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการออกแบบในต่างประเทศและอยู่ระหว่างการวางหลักปฏิบัติสำหรับประเทศไทย

จากสภาวะการข้างต้นทางเลือกที่เหมาะสมจึงเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นสำคัญ โดยเสริมความรอบรู้ที่จำเป็นและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมและที่สำคัญบุคลากรในภาคการศึกษาเองต้องปรับบทบาทจากผู้ให้ความรู้ฝ่ายเดียวมาเป็นผู้อำนวย (Facilitator) ให้เกิดการประยุกต์ใช้วิทยาการใหม่ๆตลอดจนเป็นผู้ร่วมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆจากภาคอุตสาหกรรม โดยอาจสรุปแนวทางการแก้ไขเป็นข้อๆได้ดังนี้

  1. ปรับหลักสูตรด้านการวิเคราะห์โครงสร้างให้มุ่งเน้นความเข้าใจในพฤติกรรมของระบบโครงสร้างมากขึ้น สามารถวางระบบโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในการจำลองแบบโครงสร้าง (Structural Modelling) ทั้งจากแบบจำลองทางกายภาพและแบบจำลองบนเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยแบบจำลองบนเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องสามารถเชื่อมโยงกับแบบจำลองทางสถาปัตยกรรม และงานระบบอื่นๆตลอดจนถึงขั้นตอนของการก่อสร้าง ทั้งนี้อาจอาศัยการปฏิบัติการบนระบบแบบจำลองสารสนเทศของอาคาร (Building Information Modelling; BIM) และควรเพิ่มวิชาทางโครงสร้างที่อาจมิได้มีการเรียนการสอนเป็นทั่วไปได้แก่ วิชาทางด้านการบำรุงรักษาและการซ่อมสร้างเป็นต้น นอกจากนั้นควรเพิ่มความเข้าใจในองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ได้แก่ความเข้าใจทางด้านงานสถาปัตยกรรมและงานระบบ ด้านการบริหารและกฎหมาย ตลอดจนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น โดยการเรียนการสอนทั้งหมดจะต้องมีผู้อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม
  2. ปลุกสำนึกความรับผิดชอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มความเข้าใจในบทบาทของตนและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผ่านการเรียนรู้ส่วนงานดังกล่าวและการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนรับผิดชอบ อาทิเช่น การมองสิ่งก่อสร้างจากมุมมองของการเป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น (Built Environment) ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงความจำเป็นในขบวนการออกแบบและก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เท่าทันและตอบสนองได้อย่างเหมาะสมในการเคลื่อนไหวสีเขียวซึ่งกำลังผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน (Sustainable) ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) เช่นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีพลังงานฝังตัวต่ำ (Low Embodied Energy) การใช้พลังงานในการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบโดยใช้วัสดุท้องถิ่นและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่เป็นต้น
  3. เปลี่ยนวิธีให้การเรียนการสอน (Delivery Methods)ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแก้ปัญหาจากโครงการออกแบบจริงหรือเสมือนจริง ซึ่งเป็นการใช้วิธี“การเรียนรู้ฐานกรณี” (Case based Learning) ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสประลองวางระบบโครงสร้างทางเลือก โดยอยู่ในลักษณะการเรียนรู้ร่วมกัน (Team based Learning) ซึ่งนอกจากจะเสริมทักษะในการแก้ปัญหาแล้ว จะเป็นการเสริมทักษะในการทำงานร่วมกันอีกด้วย
  4. เสริมทักษะและความเป็นสากลทั้งในด้านวิชาชีพและด้านภาษา ผู้เรียนต้องเข้าใจและสามารถออกแบบในสภาวะแวดล้อมทางมาตรฐานต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันการออกแบบเป็นไปในลักษณะข้ามชาติ และแน่นอนที่สุดจำเป็นต้องเสริมทักษะทางภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ โดยเบื้องแรกต้องเสริมความสามารถในการประกอบเอกสารที่เกี่ยวข้องวิชาชีพอย่างมีคุณภาพ และทักษะที่สำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องเสริมสร้างคือทักษะทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากสามารถวิเคราะห์และออกแบบอย่างเชี่ยวชาญบนเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วยังต้องมีความเข้าใจในระบบฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศโดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากการออกแบบและข้อมูลในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิผล

หลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นมีชื่อว่าหลักสูตร“เทคโนโลยีโครงสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง” (Structural Technology for the Built Environment; STBE) มีลักษณะดังนี้

  • เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโครงสร้าง
  • เพิ่มความรอบรู้ในงานสถาปัตยกรรมและงานบริหาร
  • สร้างความเข้าใจด้านการรักษาสภาวะแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • สร้างความสามารถในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆข้างต้น
  • Management & Design Development
  • Management of Project-based Organization
  • Project Analysis & Evaluation
  • Contract Administration
  • Design for Sustainability*
  • Development & Management of Design
  • Architectural & Structural Design Integration
  • Built Environment Modelling & Design
  • Computer-Aided Design & Information Management System*
  • Structural System Modelling*
  • Large Built Environment System Development*
  • Design of High-Rise Building Systems
  • Structural System Design for Special Loadings
  • Materials in Design 
  • Behavior of Reinforced Concrete Members & Composites
  • Advanced Metal Design
  • AdvancedCementious Materials
  • Special Structural Technology 
  • Pre-cast & Prestressed Concrete Technology
  • Offshore Structure Engineering
  • Structural System Evaluation & Retrofit

*วิชาบังคับเปิดตามแผนการเรียน /วิชาเลือกเปิดตามความเหมาะสม*

นอกจากประโยชน์ในวงกว้างที่สังคมจะได้รับจากการให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมออกแบบในด้านการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพแล้ว หลักสูตรเทคโนโลยีโครงสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการออกแบบโครงสร้าง 3 กลุ่มดังนี้

  • กลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และต้องการเป็นนักออกแบบโครงสร้างในอุตสาหกรรมการออกแบบที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
  • วิศวกร/สถาปนิกที่ทำงานออกแบบอยู่แล้วที่ต้องการเพิ่มขีดสามารถในการออกแบบตลอดจนเรียนรู้งาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆอันจักเป็นประโยชน์ในการทำงาน
  • ผู้บริหาร/จัดการและประสานงานออกแบบหรือสำนักออกแบบ ที่ต้องการเพิ่มพูนความเข้าใจในด้านการบริหารจัดการโครงการและองค์กรออกแบบ

เบญจพล เวทย์วิวรณ์และคณะ , “แนวโน้มและความต้องการของการศึกษาวิศวกรรมโครงสร้างขั้นสูงของประเทศ” รายงานวิจัยสถาบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2551)

STBE Structural Technology
for the Built Environment

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีโครงสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง